ชาวกรุงยุคนี้ต้องสตรอง ! เพราะเวลาฝนถล่มกรุงทีไร ถนนสายต่าง ๆ จะกลายเป็นคลองขนาดย่อม ๆ สกัดกั้นรถที่สัญจรผ่านไป-มาให้กลายเป็นอัมพาต ทีนี้ล่ะจะขับรถฝ่าไปก็ไม่ได้ จะเดินเข้าบ้านก็ต้องลุยน้ำท่วม เพิ่มความลำบากให้กับชีวิตทุกทิศทุกทาง นี่ยังไม่นับว่าตัวเองก็มีสิทธิ์เจ็บป่วยจากโรคหลายชนิดที่เกิดจากการลุยน้ำท่วมขังอีกนะ อย่างเช่นโรคที่เกิดจากน้ำท่วมเหล่านี้...
โรคผิวหนัง
เท้าของเราต้องสัมผัสน้ำเต็ม ๆ จากการเดินลุยน้ำที่ท่วมขัง เสี่ยงต่อการเกิดโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเป็นเวลานาน ทำให้เท้าเปื่อย คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวตามซอกนิ้วเท้าลอกเป็นขุยขาว ๆ หรือเปียกยุ่ย หรืออาจถึงขั้นเป็นแผล
หากมีอาการดังที่ว่ามา ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและซับให้แห้ง และควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยก่อนว่า เป็นลักษณะอาการของน้ำกัดเท้าจริงหรือไม่ เพราะหากผู้ป่วยเข้าใจผิดว่า เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อรา และซื้อยามาทาเอง ก็จะทำให้อาการของโรคลุกลามมากขึ้น เนื่องจากยาแก้เชื้อราบางตัวมีฤทธิ์กัดลอกผิว ซึ่งจะทำให้อาการของโรคน้ำกัดเท้ามีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
วิธีป้องกันคือ ถ้าต้องเดินย่ำน้ำให้สวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันเท้าสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยตรง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องเดินลุยน้ำจริง ๆ เมื่อถึงที่หมายแล้วให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผลแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ
โรคตาแดง
หากมือไปสัมผัสสิ่งสกปรกแล้วมาสัมผัสดวงตา หรือเชื้อโรคในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาก็ทำให้เกิดอาการตาแดงได้เช่นกัน โดยบางคนอาจมีอาการคันตามาก ต้องขยี้ตาบ่อย ๆ แต่บางคนอาจแค่เคืองตาเฉย ๆ แต่มีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า และมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัว หรืออาจปวดตา ซึ่งถ้ามีอาการนี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะตาแดงเป็นโรคที่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้
วิธีป้องกันคือ ควรล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้เครื่องสำอาง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับคนอื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตาในทุกกรณี และอย่าใช้ยาหยอดตาร่วมกับคนอื่น หากเริ่มเคืองตาหรือคันตา ให้รีบปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์
บาดแผลติดเชื้อ-บาดทะยัก
เมื่อเดินในพื้นที่น้ำท่วมขังก็เสี่ยงถูกของมีคมทิ่ม ตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่าง ๆ ตามมาได้ รวมทั้งเชื้อบาดทะยัก ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีบาดแผลจากการถูกของมีคมตำ ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบาดแผล แล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์เบตาดีน แต่ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวด-เกร็งกล้ามเนื้อ ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจติดเชื้อบาดทะยักก็เป็นได้
โรคฉี่หนู
ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลยทีเดียว โดยคนจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้เข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปาก
อาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือแบบไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต
หากจะป้องกันโรคนี้ต้องหลีกเลี่ยงการเดินอยู่ในบริเวณน้ำท่วมขัง แต่หากจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ให้รีบเดิน อย่าแช่น้ำจนผิวหนังเปื่อยเพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลที่เท้า และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลที่เท้าหรือน่อง ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ที่หนีน้ำกัดได้ ส่วนในผู้ที่เริ่มมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ให้รีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน อย่ารอให้อาการหนักเพราะอาจจะรักษาไม่หายและเสียชีวิต
ทั้งนี้ยังมีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้ห่างจากโรคดังกล่าวเมื่อจำเป็นต้องเดินลุยน้ำท่วมในช่วงฝนตก
1. หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนาน ๆ
2. หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบูทกันน้ำ เพื่อป้องกันของมีคมในน้ำทิ่ม ตำ เท้า
3. เมื่อกลับถึงบ้าน ให้ล้างทำความสะอาดร่างกายด้วยการฟอกสบู่ และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า
4. หากใส่รองเท้าบูทยาง หลังจากใส่เดินลุยน้ำแล้วต้องเทน้ำในรองเท้าออก ล้างทำความสะอาดให้ดี ผึ่งแดดให้แห้ง ก่อนนำมาใช้ใหม่
5. หากมีบาดแผลตามผิวหนังไม่ควรสัมผัสน้ำสกปรก
6. เมื่อมีแผล ผื่นที่ผิวหนัง ให้ไปพบแพทย์ และทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
7. ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เพื่อป้องกันโรคตาแดง
ช่วงฤดูฝนแบบนี้ ควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศทุกวัน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้นะคะ
ขอขอบคุณข้อมูจาก
, กรมการแพทย์